“เราจะอยู่กันอีกกี่ตัวเสื้อ !?!”

by Little Bear @21 พ.ค. 57 23:24 ( IP : 49...84 ) | Tags : บทความ

“เราจะโกหกให้ได้อะไรขึ้นมา คนรุ่นเรามีชีวิตอยู่อีกไม่กี่ตัวเสื้อ[1]แล้ว คิดเพียงว่าทำอย่างไรให้ลูกหลานได้รู้ความจริง เราเพียงแต่รักษาความจริงเอาไว้ พูดความจริงจะไปกลัวอะไร” เสียงจูหมีด[2]ยังคงดังก้องอยู่ในความทรงจำของฉัน...

นายหมีด  มะสะเร๊ะ อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตลิ่งชัน ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในวัย 73 ปี ให้สัมภาษณ์อย่างชัดถ้อยชัดคำ แม้อาการหอบซึ่งเป็นโรคประจำตัวจะปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ ในระหว่างที่ถูกสัมภาษณ์

 คำอธิบายภาพ : sjumeed1

เรามีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างจริงจังเมื่อ 7 ปี ที่แล้ว เมื่อฉันได้รับมอบหมายจากพี่น้องอำเภอจะนะให้รวบรวมข้อมูลความเป็นมาของ “ที่ดินวะกัฟ” อันหมายถึงที่ดินซึ่งชาวมุสลิมอุทิศเพื่อพระผู้เป็นเจ้าให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันตามหลักการศาสนาอิสลาม โดยเจ้าของเดิมหรือผู้หนึ่งผู้ใดก็ไม่มีสิทธิ์ครอบครองอีกต่อไป ทั้งยังไม่สามารถซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน โอนหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ จนถึงวันสิ้นโลก[3]”

เนื่องจากในปี 2546 เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่กับบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ที่เข้ามาบุกรุกเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินดังกล่าวแล้วสร้างกำแพงปิดกั้นเพื่อก่อสร้างโครงการท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ทั้งที่การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ยังไม่ผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย[4]

 คำอธิบายภาพ : schildwaguf

การกระทำของบริษัทฯ ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เดือดร้อนไม่สามารถเดินทางไปทำมาหากินได้ตามปกติ เช่น ไปทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงวัว หาของป่า นำกระจูดไปจักสาน ไปจับสัตว์น้ำในพรุ รวมทั้งขนส่งสินค้าทางการเกษตร ฯลฯ ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในการดำเนินวิถีเกษตรกรรมมาอย่างยาวนาน และที่สำคัญที่สุดบริษัทสามารถก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่อาจเกิดผลกระทบรุนแรงต่อไปได้โดยลัดขั้นตอน และละเมิดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ก่อสร้างได้หลังจากที่พตท.ทักษิณ  ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเดินทางมาให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชนที่นี่เองว่า ไม่ว่าจะตัดสินใจให้โครงการนี้ดำเนินต่อไปได้หรือไม่จะต้องมีเหตุมีผลชี้แจงกับสาธารณะได้

นานกว่า 60 ปี เส้นทางดังกล่าวเกิดขึ้นจากความเอื้ออารีที่มีต่อกันของคนที่นั่น ด้วยการวะกัฟจากเจ้าของที่ดินเจ้าหนึ่งเชื่อมต่อไปยังที่ดินของเจ้าอื่นๆ ต่อๆ กันไปจนเป็นทางสัญจรต่อเนื่องระหว่างตำบลตลิ่งชันและตำบลสะกอม อำเภอจะนะ ต่อมาภายหลังทางราชการได้ประกาศเส้นทางดังกล่าวเป็นทางสาธารณประโยชน์ตามกฎหมาย

โดยจูหมีดเล่าให้ฟังว่า “ตอนนั้นเราเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเราเองก็อยู่ด้วยในวันที่เขาวะกัฟ ถ้าเจ้าของเขาไม่วะกัฟแล้วเราจะกล้าเข้าไปถาที่ดินเขาเพื่อ “ยกทาง[5]”ได้อย่างไร ทางกว้างมากเกวียนยังสวนกันได้เลย ที่จูพูดเนี่ยเป็นเพียง 1 ใน 4 เส้นทางเท่านั้น ยังมีเส้นทางอื่นที่วะกัฟไว้ก่อนนี้ นานกว่านี้อีกด้วย”

จูหมีดจึงเป็นหนึ่งในพยานสำคัญตามหลักศาสนา ซึ่งได้ทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรลงชื่อยืนยันส่งไปยังสำนักจุฬาราชมนตรีด้วย

หลายคนที่เป็นทายาทของผู้วะกัฟ เป็นพยานยืนยันการวะกัฟวะกัฟได้รับการติดต่อขอเจรจาหลากหลายรูปแบบเนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวพันกับผลประโยชน์อันมหาศาลของหลายฝ่ายแต่จูหมีดและเพื่อนมิตรทั้งหลายยังคงยืนยันคำเดิม ยังคงรักษาความจริงไว้ให้ลูกหลานไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสที่ถูกสร้างขึ้น ...ไม่เปลี่ยนแปลงไปตาแรงกดดันของกระแสเงินตรา

ในขณะที่การดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวก็ยังคงดำเนินต่อไปเช่นกันทั้งที่การกระทำของบริษัททั้งขัดต่อหลักการศาสนาในการเข้าครอบครองที่ดินวะกัฟ ทั้งผิดกฎหมายเนื่องจากบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์

เมื่อเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ แล้วไม่มีผลต่อการแก้ปัญหา จูหมีดจึงร่วมกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ส่วนหนึ่งของความเห็นภายหลังจากกระบวนการตรวจสอบซึ่งมีรายงานออกมาในปี 2547 คือ “...การกระทำของบริษัทฯ เป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้ดำเนินการปรับสภาพที่ดินทางสาธารณประโยชน์คืนสู่สภาพเดิม และรื้อรั้วที่ปิดกั้นออก รวมถึงให้จังหวัดสงขลาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในทุกขั้นตอน...”

 คำอธิบายภาพ : sjumeed2

นอกจากบริษัทและหน่วยงานราชการจะไม่ดำเนินการใดๆ แล้ว เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2549 พตท.ทักษิณ  ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยังออกประกาศพระราชกฤษฎีกา[6]ถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าว อันเป็นการออกกฎหมายย้อนหลังเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนข้ามชาติซึ่งบุกรุกเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินดังกล่าวไปตั้งแต่ ปี 2546

จนถึงวันนี้ความขัดแย้งดังกล่าวยังไม่ได้รับการคลี่คลายบริษัทยังคงเดินหน้าละเมิดกฎหมายและทำลายหลักการศาสนา พี่น้องที่นี่ยังคงยืนยันเรียกร้องความถูกต้องชอบธรรม

...ภาพจูหมีดนั่งอยู่ที่แคร่ไม้หน้าบ้านเพื่อรอให้สัมภาษณ์นักข่าวตามที่ฉันเป็นคนประสานงานไว้ ยังแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำ    “จู...ขอโทษค่ะ มาสายไปหน่อย นี่จูนั่งรอพวกเราจนไม่ได้ออกไปเดินริมทะเลเหรอ” ฉันถามเพราะรู้ว่ากิจวัตรประจำวันยามนี้ของจูหมีดคือเดินยืดเส้นยืดสายที่ชายทะเลหน้าบ้าน “เปล่า...จูนั่งท่า[7]ให้ค่ำ” จูหมีดตอบกลับมาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอารมณ์ขันและใบหน้ามีเมตตาของจูหมีดสร้างความอิ่มเอมให้ลูกหลานอยู่เสมอ

แล้ววันหนึ่งจูหมีดก็จากไป ...จากไปเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2554  เสียงญาติมิตรกล่าวถ้อยคำ “ อินนาลิลลาฮฺฮิวาอินนอิลัยฮิรอญิอูน[8]” เมื่อทราบข่าว

จูหมีด...ชายชราร่างเล็กที่ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักของใครในสังคมไทยจากไป อย่างคุ้มค่าแล้วกับการมีชีวิตที่ผ่านมา ที่เจ้าตัวตระหนักอยู่เสมอว่าจะอยู่อีกไม่กี่ตัวเสื้อ ในขณะที่ชายอีกคนหนึ่งที่เกี่ยวพันกับการออกกฤษฎีกาที่ดินวะกัฟแปลงนี้ และเกี่ยวพันไปถึงพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ ...และนิรโทษกรรม... อันเป็นที่โจษขานกันอยู่ในวันนี้ จะคิดบ้างไหมว่า “ตัวเองควรจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีคุณค่าสมกับที่จะมีชีวิตอยู่อีกไม่กี่ตัวเสื้อแล้ว”


[1] ไม่กี่ตัวเสื้อ: เป็นภาษาถิ่นอำเภอจะนะ หมายถึง ใส่เสื้ออีกเพียงไม่กี่ตัว ....อยู่อีกไม่นานก็ตายแล้ว

[2] จู: เป็นภาษาถิ่นของมุสลิมในอำเภอจะนะ ใช้เรียกนำหน้าชื่อผู้ที่เป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัว

[3]  วันสิ้นโลก: ตามคำสอนในหลักการศาสนาอิสลามนั้น กล่าวว่าโลกปัจจุบัน หรือโลกดุนยาเป็นโลกแห่งวัตถุชั่วคราว จากนั้นเมื่อถึง “วันสิ้นโลก” ก็จะพบกับโลกแห่งชีวิตใหม่หลังความตาย หรือโลกอาคิเราะฮฺ เป็นโลกที่ทุกชีวิตจะได้พบกับอัลลอฮฺเพื่อรอรับการตัดสินการกระทำของแต่ละคนในขณะที่มีชีวิตอยู่ในโลกดุนยา


[4] ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฯ ฟ้องศาลปกครองเมื่อปี 2547 จากการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุญาตให้ก่อสร้างดำเนินการขั้นตอนต่างๆใน โครงการฯ ทั้งที่EIA ยังไม่ผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยขณะนี้กระบวนการในชั้นศาลยังไม่สิ้นสุด

[5] ยกทาง: ไปภาษาถิ่นภาคใต้ หมายถึงขุดดินขึ้นมาถมเป็นคันดินยาวเพื่อสะดวกในการเดินทางไป-มา

[6] อีกประเด็นที่น่าสนใจคือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีข้อสรุปไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าหากดำเนินทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว พบว่าจำเป็นต้องถอนสภาพที่ดินดังกล่าว ก็ต้องประกาศเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้นเนื่องจากผลการสอบข้อเท็จจริงพบว่าทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง องค์การบริหารส่วนตำบล และประชาชนผู้ร้องเรียนให้ข้อเท็จจริงตรงกันว่า ประชาชนทั่วไปยังคงใช้ประโยชน์ในเส้นทางสาธารณะดังกล่าวอยู่อย่างเป็นปัจจุบันก่อนที่บริษัทจะปิดกั้น แต่รัฐบาล พตท.ทักษิณ ชินวัตร กลับประกาศพระราชกฤษฎีกา ขัดแย้งกับประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 8 วรรค 2(1)

[7] ท่า: เป็นภาษาถิ่นต้แปลว่ารอ

[8] เป็นการกล่าวดุอาขอพรต่อพระเจ้าอันมีความหมายโดยย่อว่า  “แท้จริงเราต้องไปกลับไปสู้ความเมตตาของพระองค์อัลลอฮฺ” ซึ่งตามหลักศาสนาอิสลามนั้นสอนว่า จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมุสลิมที่ต้องคิดและรำลึกถึงความตายอยู่เสมอ

ที่มา www.oknation.net