คิดถึงเธอ...ชายหาด

by Little Bear @23 พ.ค. 57 21:51 ( IP : 49...139 ) | Tags : บทความ

ท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตลอดทั้งแนวตั้งแต่จังหวัดนราธิวาสถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี  คนรักและผูกพันกับชายหาดในจังหวัดสงขลา จึงร่วมกันจัดกิจกรรมคิดถึงเธอ...ชายหาดขึ้น เพื่อพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน ตำบลบ้านนา ร่วมกับ  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้(กป.อพช.ใต้) สมาคมดับบ้านดับเมือง  สมาคมรักษ์ทะเลไทย  มหาวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ อำเภอจะนะ  เครือข่ายนักข่าวพลเมืองเฝ้าระวังชายหาด และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณแห่งประเทศไทย(ทีวีไทย)  จัดงานคิดถึงเธอ...ชายหาดขึ้นบริเวณริมทะเลบ้านบ่อโชน ต.สะกอม อ.จะนะ  จ.สงขลา เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคมที่ผ่านมา

กิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อมุ่งสร้างกระบวนการศึกษาเรียนรู้สภาพปัญหาของชายหาด ความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดสงขลา เกิดการแลกเปลี่ยนเรื่องราวของชายหาดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันผู้เข้าร่วมเห็นคุณค่าและความสำคัญของชายหาด และเกิดจิตสำนึกร่วมกันในการดูแลรักษาทรัพยากรชายหาด

กิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ น. เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเยาวชนจากตัวแทน ๑๐ โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดสงขลา ได้แก่ โรงเรียนวรนารีเฉลิม โรงเรียนศิรินุพงศ์ โรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ โรงเรียนสุทธิ์รักษ์ โรงเรียนบ้านสุเหร่า โรงเรียนบ้านโคกม้า โรงเรียนบ้านปากบาง โรงเรียนบ้านสะกอม โรงเรียนบ้านบ่อโชน และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชัฏสงขลา ประมาณ ๖๐ คน โดยมีการจัดฐานการเรียนรู้เป็นฐานต่างๆ อาทิ หนึ่งฐานเรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านและความรู้เรื่องทรัพยากรชายหาด มีการสาธิต การหากุ้งเคย ด้วยการรุนและการใช้ตีนต่อ(เป็นลักษณะคล้ายขาเทียมทำจากไม้ ใช้ใส่เพื่อให้ช่วงขาสูงขึ้นกรณีที่รุนกุ้งเคยในบริเวณที่น้ำทะเลลึก) การถักอวน  สองฐานเรียนรู้อาหารพื้นบ้านซึ่งมีส่วนประกอบของปลาสดจากทะเล เช่น ข้าวยำ ข้าวดอกราย ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านของชาวสะกอม และวิธีการทำกะปิ  สามฐานเรียนรู้กิจกรรมของเยาวชนในอำเภอจะนะ  ได้แก่กิจกรรมกลุ่มเยาวชนโหมเรารักษ์จะนะ  กิจกรรมนักข่าวพลเมืองหมีดหม้อสีขาว และเครือข่ายนักข่าวพลเมืองเฝ้าระวังชายหาด ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนที่มาร่วมงาน สี่ฐานเรียนรู้แนวคิดธรรมชาติบำบัดการดูแลสุขภาพด้วยการใช้ผัก ผลไม้ อากาศ

ช่วงบ่ายเริ่มด้วยการแสดงศิละ ของนักเรียนโรงเรียนบ้านสุเหร่า อ.จะนะ ซึ่งเป็นการร่ายรำศิลปะต่อสู้ป้องกันของพี่น้องมุสลิม  การแสดงลิเกฮูรูของเยาวชนลานหอยเสียบ

การเสวนาประเด็น “คิดถึงชายหาดบ้านเรา” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายเจ๊ะหมัด  สังข์แก้ว และนายดลรอหมาน โต๊ะกาหวี  ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายหาด  รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  คุณพีระ  ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา  คุณศุ บุญเลี้ยง  ซึ่งได้ร่วมกับสื่อมวลชนจากส่วนกลาง นักเขียน และสื่อมวลชนท้องถิ่น ลงพื้นที่สำรวจปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจากอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชถึงตำบลสะกอม อำเภอจะนะ  จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ ๒๖ – ๒๗ ธันวาคม  ดำเนินรายการเสวนาโดย  คุณศิริมา นิตะโย

นายเจ๊ะหมัด  สังข์แก้ว  อดีตสมาชิกอบต.สะกอม เล่าว่าสภาพอดีตของชายหาดตำบลสะกอมเป็นชายหาดที่ทอดยาวมีความสวยงามมาก มีต้นสนตลอดแนว ความสมบูรณ์ของชายหาดทำให้สัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ด้วย มีเต่าขึ้นมาวางไข่จำนวนมาก  ชายหาดมีความสำคัญทั้งในแง่การทำมาหากินเลี้ยงชีพแล้ว ยังมีคุณค่าทางด้านจิตใจคนในชุมชนและเยาวชนจะมีพักผ่อนกันเป็นจำนวนมาก และอดีตเคยมีการทำพีธีตาละบาลาบริเวณหน้าหาด(ลักษณะคล้ายลอยเรือสะเดาเคราะห์แบบไทยพุทธ)  แต่หลังจากที่กรมเจ้าท่าเดิมหรือกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีสร้างเขื่อนกั้นทรายและกันคลื่นบริเวณปากคลองสะกอมตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ ทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายหาดรุนแรงขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ กระทบต่อการใช้ประโยชน์จากชายหาดสะกอม ต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่สำคัยกระทบต่อความรู้สึกด้านจิตใจต่อการสูญเสียชายหาด

นายดลรอหมาน โต๊ะกาหวี  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ่อโชน ตำบลสะกอม กล่าวว่าการที่ตนและชาวบ้านตำบลสะกอมต้องลุกขึ้นมาฟ้องร้องต่อกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีและอธิบบดีกรมฯ  ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลและรับผิดชอบการสร้างเขื่อนกั้นทรายและกันคลื่นบริเวณปากคอลงสะกอม ผลจากการก่อสร้างทำให้ชายหาดสะกอมถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง  การฟ้องร้องศาลปกครองสงขลา มูลค่าร่วม ๒๐๐ ล้านบาทเพื่อนำเงินดังกล่าวมาเยียวยาและฟื้นฟูชายหาด  สำหรับแนวทางกาแก้ไขปัญหาการกัดเซาะเวลานี้คืออย่าก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำทะเลเพิ่ม ไม่ว่าเขื่อนหรือท่าเทียบเรือน้ำลึกที่จะเกิดขึ้นที่บ้านสวนกง

สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์  ยืนยันเอกสารการศึกษาของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีที่ระบุชัดว่า  หลังจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำสะกอม ในปีแรกจะเกิดการทับถมที่เขื่อนด้านทิศตะวันออกเป็นระยะทาง ๗๑ เมตร เป็นแนวยาว ๒.๕ กิโลเมตรและเกิดการกัดเซาะ ๔๕ เมตร ในระยะทาง ๑.๕ กิโลเมตรตามชายฝั่ง เมื่อผ่านไป ๒๐ ปี การทับถมจะเกิดขึ้น ๔๐๓ เมตร เป็นระยะทางมากกว่า ๕ กิโลเมตร และเกิดการกัดเซาะ ๓๒๔ เมตรในระยะทาง ๔ กิโลเมตร  แต่ในความเป็นจริงเกิดปัญหากัดเซาะมากว่าที่คาดการณ์ไว้ด้วยซ้ำ และกล่าวว่าโดยหลักหากก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำทางน้ำจะก่อสร้างเกิดปัญหาการกัดเซาะอย่างแน่นอน เพราะทิศทางน้ำทิศทางคลื่นเปลี่ยน โดยหลักธรรมชาติเมื่อคลื่นปะวัตถุกีดขวางคลื่นจะแรงกว่าปกติ การที่ชายหาดถูกทำลายทำให้ไม่มีตัวชะลอความแรงของคลื่น หน้าที่หนึ่งของชายหาดคือเป็นเสมือนกำแพงกันคลื่นตามธรรมชาติที่จะป้องกันฝั่งให้ปลอดภัยจากคลื่นลม

คุณพีระ  ตันติเศรณี กล่าวว่าชายหาดชลาทัศน์ในปัจจุบันกำลังได้รับความสนใจเนื่องจากพื้นที่ชลาทัศน์อยู่ติดถนน เดินทางสะดวกมีคนนำรูปที่ถ่ายออกข่าวไปจึงเป็นที่รับรู้เรื่องการพังทลายขงชายหาด  พื้นที่เดิมของหาดชลาทัศน์เป็นชายหาดชุมชนและถนนเกิดขึ้นที่หลังทำให้เกิดการกัดเซาะ จึงมีการสร้างแนวกันคลื่นแต่การกัดเซาะยังเกิดขึ้นทุกปี ตนเองเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ว่าในปีนี้ใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาไป ๗๖ ล้านบาทแล้วจึงเกิดความคิดว่างบประมาณจำนวนมากดังกล่าวน่าจะนำไปแก้ไขปัญหาในรูปแบบอื่นๆ เช่นการปรับรูปแบบบ้านเวณเก้าเส้ง ส่วนตัวมองว่าการแก้ไขปัญหาชายหาดต้องทำความเข้าใจกับคนสงขลาและร่วมกันคิดเพราะเป็นปัญหาที่ส่งผลวงกว้าง

คุณศุ บุญเลี้ยง  เล่าว่าตนคุ้นเคยกับหาดชลาทัศน์เคยวิ่งออกกำลังกายเป็นหาดที่กว้างสวยงาม แต่เมื่อวานไปดูเห็นแต่ล้อยางรถยนต์และกระสอบทราย ปัญหาการกัดเซาะไม่ใช่เฉพาะสงขลาหลายพื้นที่ในประเทสก็เจอรวทั้งเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานีด้วย บางครั้งเราแก้ปัญหาการกัดเซาะด้วยเจตนาดีแต่ไม่รู้ถึงผลกระทบที่จะตามมา คำถามคือเราจะเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างไร จะต้องช่วยกันคิด การถกเถียงจะทำให้เกิดความรู้ในการแก้ไขปัญหา ก่อนเดินทางมาได้คุยกับท่านว.วชิรเมธีท่านบอกว่าโบราณว่าไว้ “อย่าถมสมุทร”

จากนั้น อาจารย์สดใส ขันติวรพงศ์  ขึ้นอ่านบทกวี “ทักษิณประเทศ”  ซึ่งประพันธ์โดย ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์  ตามด้วยผศ.ยงยุทธ หนูเนียม อ่านบทกวี “บาทแผลแห่งชายหาด” ตามการแสดงของศิลปะพื้นบ้าน รองแง็ง    โดยเยาวชนกลุ่มโหมฺเรารักษ์จะนะ  ไวโอลีนบรรเลงเพลงหยาดเพชร  โดยเด็กหญิงเพียงปรางค์ แสงนวล  และจบด้วยการแสดงดนตรีของอภินันท์ จิตรโสภาและวงดนตรีบาโรย

การรำรองแง็งของเยาวชนโหมฺเรารักษ์จะนะ

ทักษิณประเทศ

เหมือนแต่งนิทานหลานเอ๋ย

ห้วยหนองบึงเคยพียบผล

พืชผักบัวบาเบียดปน

ปลอดเสียงคนปลาออ กุ้งต่อแพน

ที่ปรือ กก รกเร้นเป็นเซิงพัก

นกพำนักรังซอนซ่อนแขวน

ค่าน้ำคุณดินดีทั่วแดน

พูนแผ่นทักษิณเป็นถิ่นทอง

วันนี้ถิ่นนี้เป็นไฉน

ข้าวใหม่ปลามันไม่ได้ต้อง

พลิกเดนดินกินไตข้าวน้ำคาวนอง

ห้วยบึงหนองเหือดเฉาหมดเต่าปลา

หมายผักริ้นริมหนองเหมือนทองก้อน

ต้นขี้ไต้ในทอนยากถามหา

แสงหิ่งห้อยใครเห็นเป็นบุญตา

“น้ำเผล้งหลา” อย่าหมายกรายกลั้วคอ


สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์

๑๔ กุมภาพันธ์  ๒๕๓๖

(“น้ำเผล้งหลา” น้ำดื่มในโอ่งดินที่ผู้มีน้ำใจเตรียมไว้สำหรับผู้เดินทางที่เดินทางมาพักในศาลาริมทาง)

เขียนให้  กป.อพช.ภาคใต้                                      บาดแผลแห่งชายหาด

งาน “คิดถึง...เธอชายหาด”

27 ธ.ค.52  ณ บ่อโชนรีสอร์ต

ต.สะกอม  อ.จะนะ  จ.สงขลา

จากวันนั้น.....

ณ เวิ้งว้าง...อาณาอลังการ

อัศจรรย์สถานสถิตหล้า

ตระการภพตรึงผ่านกาลเวลา

เชื่อมฝั่งฟ้าฝั่งทรายได้เห็นกัน

โยงหาดฟ้า...หาดทรายให้ถึงกัน

คือมหาทะเลสีครามคลอมรกต

คือมหาทะเล...สีครามคลอมรกต

เบิกบริบทอันงดงามเหนือความฝัน

คำแผ่วพลิ้ว-โครมครืน-คลื่นยืนยัน

ทุกคืนวันฤดูกาล...ผ่านหาดทราย

ผ่านคืนวันผ่านฤดูกาล...ผ่านหาดทราย

เห็นหาดทราย...พบวัยวันอันสดใส

เด็กๆจำหลักไว้ไม่เลือนหาย

สู่วันวัยหนุ่มสาวก้าวเคียงกาย

ลุวัยวันอันผ่อนคลาย...แห่งผู้ชรา

พบครรลองผองคนบนลำเรือ

พลีหยาดเหงื่อเพื่อสู้คลื่นลมกล้า

ค้นทรัพย์น้ำ-ฝูงกุ้ง-หอย-ปู-ปลา

ล่องนาวาเลี้ยงชีวิตครอบครัวตน

ร่วมนาวาเวิ้งชีวิต...แห่งชุมชน

พบจุดยืน...บนนิยามความพอเพียง

วัฒนธรรม-เล-หล่อเลี้ยงให้สุขล้น

หลอมอัตลักษณ์อิ่มเต็มในตัวตน

ภูมิปัญญาแห่งผองชนเจนตาใจ

ภูมิปัญญาแห่งผองชน...ชัดตาใจ


คนกับเล-ร่วมฤดูกาลสานชีวิต

แนบสนิทเนาว์นานผ่านยุคสมัย

วิถีคน- วิถีเล-ร่วมวิถีใจ

สุขสมดุล-สำแดงไว้ในเวิ้งกาล

ด้วยสมดุล...จึ่งสุขได้ในเวิ้งกาล

ทุกเรื่องราว...หาดทรายได้บันทึก

ทุกเกลียวคลื่นเวียนจารึกรอยริ้วผ่าน

ทุกเม็ดทรายคืออักษรอันจดจาร

ทุกเสียงคลื่นส่งสื่อสาร...ถึงผู้คน

มหาทะเล...เพียรสื่อสารถึงผองคน

ว่าหาดทราย...คือนิยามงามแห่งโลก

คือขุมโชคโภคทรัพย์นับค่าล้น

ธรรมชาติรังสรรค์บันดาลดล

เพื่อชีวิตทุกๆคนได้พึ่งพา

ให้ชีวิต...ให้ทุกๆคน...ได้พึ่งพา

ถึงวันนี้.......

ทุกชายหาด...เห็นบาดแผลแลกว้างใหญ่

ทุกหาดทราย...ได้บาดแผลแลกว้างใหญ่

เนื้อกายหาดขาดวิ่นไป...ทุกเบื้องหน้า

หลากเรื่องราว-พร่า-พราก-จากจอตา

สุขสมดุลเริ่มเลือนลาจากหาดทราย

สุขสมดุลจึ่งเลือนลา...ทุกหาดทราย

ฤาวงวัฏฎ์-สัจจะแห่งโลกธรรม

ฤาอุบัติการณ์-เตือนย้ำก่อนโลกสลาย

ฤาโศกนาฏกรรม-ก่อนชีวิตจักวอดวาย

ฤาเพราะคน-ลอบทำร้าย...มหาทะเล

ฤาเพราะคนร่วมทำร้าย...มหาทะเล

ฤามนุษย์..รุมทำลาย...มหาทะเล!!!!

...............................

ผศ.ยงยุทธ  หนูเนียม

๒๔ ตุลา ๕๒ ยามย่ำเย็นชายหาดชลาทัศน์ สงขลา

ที่มา blogazine.in.th