Topic List

16 items(1/2) 2 Next » Last »|
โดย Little Bear on 24 พ.ค. 57 10:08

มาชิมของหรอย ๆ และร่วมอุดหนุนข้าวดอกราย ได้ในงานกองทุนปกป้องแหล่งผลิตอาหารชายฝั่งทะเลจะนะ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ณ ชายหาดบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา เวลา 09.00 น.- 18.30 น.

ข้าวดอกราย อาหารพื้นบ้านของคนสะกอม ป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของที่นี่เลยก็ว่าได้ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือเป็นอาหารที่สืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ จึงไม่แปลกที่ชาวสะกอมจะรู้สึกภาคภูมิใจทุกครั้งที่เรานำไปจัดแสดงในงานต่าง ๆ เพราะเป็นเอกลักษณ์ของเราและทุกครั้งที่เราไปขาย ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเพราะเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะและหากินได้ยากมาก

คนเฒ่าคนแก่บอกว่าสาเหตุที่ชื่อข้าวดอกรายก็เพราะส่วนผสมที่หาหลากหลายและหาได้ง่ายจากในครั วเช่น ข้าวที่เหลือหรือคนบ้านเราเรียกว่าข้าวเย็น, หัวหอม, พริกสด, ปลาสด, กะปิ, มะขามเปียก, ตะไคร้ สำหรับกะปิของสะกอมก็ได้ชื่อว่าเป็นกะปิที่อร่อยอยู่แล้ว และคนสะกอมส่วนใหญ่ก็ทำกะปิกินเอง

วิธีทำนำตะไคร้ พริก หัวหอมมาตำให้ละเอียดใส่ปลา และกะปิตำให้เข้ากันใส่น้ำมะขามเปียกหรือมะขามสดก็ได้ จากนั้นใส่ข้าวคลุกเคล้าให้เข้ากันสามารถทานได้เลย

สิ่งที่ทำให้ข้าวดอกรายอร่อยและมีเอกลักษณ์เฉพาะก็คือปลาที่สด และสะอาด นับได้ว่าเป็นส่วนผสมที่สำคัญที่ทำให้ข้าวดอกรายอร่อย เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาดตลอดไป เพื่อสืบทอดอาหารดีดีและของดีดีของเราไว้ให้ลูกหลานรุ่นต่อไป

ที่มา ปกป้องแหล่งผลิตอาหารชายฝั่งทะเลจะนะ

โดย Little Bear on 23 พ.ค. 57 21:53

คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา  ลงพื้นที่จังหวัดสงขลาเพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกรณี ปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล  จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 11 -12  มกราคม 2553  ประกอบด้วยนายสุรชัย  เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการฯ  นายสุรจิต  ชิรเวทย์ รองโฆษกคณะกรรมาธิการฯและคณะ

10.00 น.คณะกรรมาธิการฯได้เดินทางมายังบ้านสวนกง หมู่ที่ 7  ตำบลนาทับ  เพื่อดูสภาพพื้นที่ของชายหาดที่ยังอยู่สภาพที่ยังสมบูรณ์ เพื่อเปรียบเทียบกับสภาพชายหาดที่ถูกกัดเซาะไปในพื้นที่อื่นๆในจังหวัดสงขลา และพื้นที่ดังกล่าวกำลังเป็นพื้นที่เป้าหมายในการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2  และเพื่อรับฟังปัญหาจากชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการกัดเซาะชายหาดจากกรณีการสร้างเขื่อนกันทรายและกันคลื่นของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีในพื้นที่ร่องน้ำปากคลองสะกอม

นายสุรชัย  เลี้ยงบุญเลิศชัย กล่าวว่า เนื่องจากได้รับการร้องเรียนประเด็นปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดสงขลา จึงได้นำเรื่องเข้าสู่กรรมาธิการวุฒิสภา และได้เชิญผู้ที่มีความรู้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อมาชี้แจงข้อมูล และในวันนี้ทางคณะลงมาเพื่อรับฟังปัญหาข้อเท็จจริงจากประชาชนในพื้นที่ ข้อมูลที่ได้จะจัดทำเป็นรายงานการศึกษาเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องและเป็นการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อไป

โดย Little Bear on 23 พ.ค. 57 21:51

ท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตลอดทั้งแนวตั้งแต่จังหวัดนราธิวาสถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี  คนรักและผูกพันกับชายหาดในจังหวัดสงขลา จึงร่วมกันจัดกิจกรรมคิดถึงเธอ...ชายหาดขึ้น เพื่อพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน ตำบลบ้านนา ร่วมกับ  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้(กป.อพช.ใต้) สมาคมดับบ้านดับเมือง  สมาคมรักษ์ทะเลไทย  มหาวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ อำเภอจะนะ  เครือข่ายนักข่าวพลเมืองเฝ้าระวังชายหาด และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณแห่งประเทศไทย(ทีวีไทย)  จัดงานคิดถึงเธอ...ชายหาดขึ้นบริเวณริมทะเลบ้านบ่อโชน ต.สะกอม อ.จะนะ  จ.สงขลา เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคมที่ผ่านมา

กิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อมุ่งสร้างกระบวนการศึกษาเรียนรู้สภาพปัญหาของชายหาด ความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดสงขลา เกิดการแลกเปลี่ยนเรื่องราวของชายหาดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันผู้เข้าร่วมเห็นคุณค่าและความสำคัญของชายหาด และเกิดจิตสำนึกร่วมกันในการดูแลรักษาทรัพยากรชายหาด

โดย Little Bear on 23 พ.ค. 57 21:49

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมามีโอกาสเดินทางไปแถบถนนเก้าเส้ง ทอดยาวไปถึงชายหาดชลาทัศน์  บริเวณแหลมสมิหลา จังหวัดสงขลา แนวต้นสนที่บางตาลง เห็นกระสอบทราย กองหิน ล้อยางรถยนต์วางกองเรียงรายบนฟุตบาธถนน เห็นป้ายประกาศเตือนขนาดเขื่องว่า “ระวังต้นสนล้มทับ” เดินลงไปสำรวจแนวชายหาดพบว่ามีการนำล้อยางรถยนต์เก่าที่ไม่ใช้งานมารียงรายบริเวณแนวชายหาดและซ้อนทับด้วยกระสอบทราย  ภาพที่เห็นไม่แน่ใจว่าคือประติมากรรมหรือนวตกรรม ที่เกิดจากความรู้ ภูมิปัญญาหรือเป็นการทดลองเทคโนโลยีใหม่กันแน่  คำถามที่เกิดขึ้นในหัวใจคือเรากำลังปฐมพยาบาลบาดแผลของชายหาด เพื่อปกป้องรักษาชายหาดไว้ให้ลูกหลานในอนาคต หรือเรากำลังวางยาเพื่อฆาตกรรมชายหาดให้ค่อยตายไป  แล้วสุดท้ายก็ไม่รู้ว่าใครเป็นฆาตกร  เข้าใจความรู้สึกของการแก้ไขปัญหาโดยการเอาล้อยางรถยนต์มาวางเรียงรายบนชายหาดนั้นเฉพาะหน้า โดยมีเป้าหมายเพื่อชะลอความแรงของคลื่น ไม่ให้กัดเซาะชายหาดพังหรือป้องกันไม่ให้ต้นสนล้ม  แต่ในความเป็นจริงเพียงแค่ล้อยางรถยนต์และกระสอบทรายไม่สามารถแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาดชลาทัศน์ได้เลยได้  เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

โจทย์ใหญ่ที่ควรคิดในเวลานี้คือการพังทลายของชายหาดอะไรคือต้นตอของปัญหากันแน่?  เพราะในเวลานี้คลื่นลมแรงและภาวะโลกร้อนกำลังตกเป็นจำเลย ของการพังทลายของชายหาด

คำถามคือชายหาดในวันนี้บาดเจ็บแสนสาหัสเกินกว่าเยียวยาแล้วจริงหรือ? หรือเรากำลังใช้วิธีการเยียวยาปฐมพยาบาลที่ผิดทิศผิดทางกันแน่  มีใครบ้างคนเคยพูดว่าชายหาดสงขลาตายแล้ว มีคนบางกลุ่มต้องการทำให้ตาย เพื่อให้ชายหาดหมดความสวยงามและหมดคุณค่าที่จะปกป้องรักษา เพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำลายชายหาดด้วยการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่สองในอนาคต 

โดย Little Bear on 23 พ.ค. 57 21:46

ทันทีที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงพื้นที่จังหวัดสงขลาเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยให้นักธุรกิจและหอการค้า 5  จังหวัดชายแดนใต้เข้าพบ เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาที่ทางหอการค้าต้องการ ซึ่งในวันนั้นนายกอภิสิทธิ์พูดชัดว่าหากก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล        และท่าเทียบเรือน้ำลึกที่ตำบลนาทับ จ.สงขลา หากมีเพียงท่าเทียบเรืออย่างเดียวไม่คุ้มการลงทุน ต้องมีถนน โครงข่ายท่อน้ำมัน รางรถไฟ และอุตสาหกรรมโดยโยนเผือกร้อนใส่คนสงขลา ว่า “คนสงขลาต้องช่วยผมกำหนด ตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่เอาการพัฒนาอุตสาหกรรม”

ถัดมาเพียงสี่วัน (4 พฤศจิกายน 2552)  ห้องประชุมเกษม ลิ่มวงศ์ ศูนย์การประชุมคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ทางศูนย์การเรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จ.สงขลา ได้จัดการจัดโครงการสัมมนา ร่วมกำหนดอนาคตคนสงขลา “บนฐานทรัพยากรที่ยั่งยืน” ทำให้เห็นถึงมุมมองกลุ่มคนที่หลากหลายที่ไม่เห็นด้วยกับทิศทางนโยบายรัฐบาล  และสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ต้องการพัฒนาพื้นที่จ.สงขลาไปสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมแบบมาบตาพุด

โดย Little Bear on 23 พ.ค. 57 21:43

ช่วงวันหยุดเข้าพรรษาที่ผ่านมามีน้องๆเยาวชนในนามของกลุ่ม “โหมเรารักษ์จะนะ”ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาได้ร่วมกันจัดค่ายเยาวชนโหมเรารักษ์จะนะครั้งที่ 2 “ตามหาชายหาด...หายไป”ขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 กรกฎาคม 2552 ณ บ่อโชนรีสอร์ท ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หลังจากที่มีการจัดค่ายเยาวชนครั้งแรกไปเมื่อปีกลายที่ผ่านมา เวลานั้นเป็นค่าย“ตามรอยเรื่องเล่าเมืองจะนะ”

เช้าวันที่ 7 กรกฎาคมน้องๆสามสิบกว่าชีวิตจากหลายหมู่บ้านและหลากหลายโรงเรียนได้เดินทางมารวมตัวกัน ณ ศูนย์การเรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ  น้องเล็กสุดก็ประถมห้าประถมหก พี่สุดกำลังศึกษาปริญญาตรีเพื่อเตรียมออกเดินทางไปยังริมทะเลตำบลสะกอม

ความคาดหวังของเยาวชนในการจัดค่ายครั้งนี้ เพื่อเรียนรู้ประการณ์ใหม่ๆ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับชายหาดและท้องทะเล  เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านที่สัมพันธ์กับท้องทะเล ค้นหาที่ทำให้ชายหาดหายไป  ที่สำคัญเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ทะเลบ้านเรา  ส่วนหนึ่งค่ายนี้ถือเป็นค่ายพัฒนาการของน้องๆโหมเรารักษ์จะนะจากค่ายที่หนึ่งในฐานะผู้เข้าร่วมค่าย  แต่ในครั้งนี้ขยับบทบาทเป็นผู้ออกแบบและเป็นพี่เลี้ยงค่าย  ผู้ปกครองที่ทำหน้าพี่เลี้ยงค่ายแรก สำหรับค่ายนี้เป็นฝ่ายสนับสนุน อำนวยความสะดวกและเฝ้าดูการเติบโตของเด็กๆ

โดย Little Bear on 23 พ.ค. 57 21:41

น้องๆชาวค่ายตื่นกันตั้งแต่ ๐๕.๓๐ น. เบิกบานด้วยโยคะยามเช้าริมทะเล ฝึกลมหายใจเข้าออกสูดอากาศบริสุทธิ์เพื่อความผ่องแผ้วของชีวิต หลังอาหารเช้าน้องทุกคนกระตือรือร้นขึ้นรถเพื่อออกตามรอยเรื่องเล่าเมืองจะนะจากสองวิทยากรเมื่อวานนี้  จุดแรกจะไปเรียนรู้เมืองเก่าที่บ้านเขาจันทร์ หมู่ที่๑๐  ตำบลจะโหนง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หลังจากนั้นจะตามรอยส้มจุกสายพันธุ์ดั้งเดิมของเมืองจะนะ

รถยนต์มุ่งหน้าสู่บ้านเขาจันทร์  ตำบลจะโหนง อำเภอจะนะ  จังหวัดสงขลา น้องๆชาวค่ายได้พบกับคุณตากุลจักร  ศรียาภัย อายุ ๘๐ ปีและ พี่คนึง  นวลมณี ผู้จะนำทีมนำสำรวจรุ่นจิ๋วตามรอยเรื่องเล่าเมืองเก่าจะนะ

คุณตากุลจักร เล่าว่า  เมื่อสมัยรัชการที่ ๕  เจ้าเมืองจะนะคนสุดท้าย คือ พระมหานุภาพปราบสงคราม ชื่อเดิมว่า "ปลอด" ซึ่งเป็นพ่อของยาย บ้านเจ้าเมืองขณะนั้นมีเนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่ ในบริเวณบ้านจะปลูกไม้ไผ่หลอด มีลำขนาดเท่าหัวแม่มือ ปลูกล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน  ปัจจุบันไม่มีซากบ้านหลงเหลือขณะนี้ที่บริเวณนั้นกลายเป็นที่นา

โดย Little Bear on 23 พ.ค. 57 21:39

ค่ายโหมเรารักษ์จะนะ : ตอนที่ ๑ ตามรอยประวัติศาสตร์เมืองจะนะ

ช่วงเดือนตุลาคมเป็นช่วงที่โรงเรียนต่างๆปิดภาคการเรียนการสอน  เด็กๆหลายคนมีกิจกรรมต่างๆมากมายระหว่างปิดภาคเรียน  แต่มีผู้ปกครองกลุ่มหนึ่งได้นั่งพุดคุยจนนำไปสู่การจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนในช่วงเวลาแบบนี้ให้กับลูกหลานและเด็กๆในชุมชน

ค่ายโหมเรารักษ์จะนะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๕-๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๑  ณ บ่อโชนรีสอร์ท  อำเภอจะนะ  จังหวัดสงขลา  โดยมีน้องๆเยาวชนจากหลากหลายพื้นที่จากอำเภอจะนะ

จังหวัดสงขลาร่วมสี่สิบชีวิตมาเข้าค่ายร่วมกันเพื่อเรียนรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน และเรียนรู้เรื่องราวและตามรอยประวัติศาสตร์เมืองจะนะ  ซึ่งเป็นค่ายเป็นค่ายที่มีความหลากหลายสูงมากเพราะมีน้องเล็กๆตั้งแต่น้องป.๒ถึงพี่เรียนระดับปริญญาตรี  และมีผู้ปกครองอาสาสมัครเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงค่ายและร่วมคิด ร่วมกำหนดกระบวนการจัดค่ายเอง โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์พลเมืองเด็กสงขลาในการให้คำปรึกษา

นายกิตติภพ  สุทธิสว่าง ผู้ประสานเครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะ ในโครงการดับบ้านดับเมืองเรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้ เล่าว่าสืบเนื่องจากการศูนย์การเรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน ตำบลบ้านนา ได้จัดและสร้างกระบวนการเรียนรู้ศิลปะสร้างสุขให้กับเยาวชนในชุมชนทุกวันอาทิตย์  และได้มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อวิถีชีวิตชุมชน ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา  โดยทำการฝากเงินและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างสมาชิกในทุกวันเสาร์แรกของเดือน จากการแลกเปลี่ยนของสมาชิกทำให้เห็นว่าสภาพชุมชนและสังคมในปัจจุบันเป็นลักษณะต่างคนต่างอยู่ ขาดการพึ่งพาอาศัยและดูแลซึ่งกันและกันเหมือนเช่นชุมชนในอดีต  และเยาวชนในชุมชนหันเหไปพึ่งพิงเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้นเรื่อยๆได้แก่ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์

โดย Little Bear on 23 พ.ค. 57 21:36

จากเหตุการณ์ของเช้าวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศคงสลดใจกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมของรัฐบาลนายสมชาย  วงศ์สวัสดิ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  คงไม่มีใครอยากเห็นภาพคนไทยต้องฆ่าคนไทยด้วยกันเอง(เว้นเสียแต่นายทักษิณ  ชินวัตรที่คงสาแก่ใจ)

ภาพเหตุการณ์ในวันนั้นที่สื่อสารผ่านสื่อโทรทัศน์โดยเฉพาะTHAI TPS    ASTVและหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆในวันรุ่งขึ้น คงไม่มีมูลเหตุจูงใจให้เชื่อว่าเป็นการสลายการชุมนุมอย่างนุ่มนวลดังที่ตำรวจระดับสูงบางคนให้สัมภาษณ์อย่างแน่นอน  เพราะนั่นคือภาพเหตุการณ์ฆาตกรรม สยองขวัญคนไทยทั้งประเทศมากกว่า  หากภาพที่เห็นมีแต่ภาพข่าวไร้คำบรรยาย คนดูอาจเข้าใจว่าเป็นการทำสงครามกลางเมืองในประเทศใดประเทศหนึ่ง  หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังทำสงครามปราบปรามข้าศึกมากกว่าเป็นภาพที่ข้าราชการตำรวจไทยกระทำกับคนไทย ผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลตามสิทธิรัฐธรรมนูญที่พึงมี

เหตุการณ์ในวันนั้นคงสามารถยืนยันบางสิ่งบางอย่างในสังคมไทยได้ว่านักการเมือง ตำรวจ ทหารไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อผู้ชุมนุมและไม่เคยเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้กำลังอำนาจในการปราบปรามประชาชนเลยในทุกยุคทุกสมัยนับตั้งแต่เหตุการณ์ ๖ ตุลา  ๑๔ ตุลา  พฤษภาทมิฬและเหตุการณ์ต่างๆอีกหลายครั้ง  หนึ่งในเหตุการณ์คือเหตุการณ์ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๕ การสลายกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซธรรมและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย อ.จะนะ จ.สงขลา แม้เหตุการณ์ในวันนั้นจะไม่รุนแรงและป่าเถื่อนโหดร้ายเช่นเหตุการณ์ในครั้งนี้ แต่เบื้องหลังความคิดการปรามปราบประชาชนมาจากฐานความคิดทัศนคติเดียวกัน คือ การไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน และใช้อำนาจเป็นใหญ่  แม้วันนั้นไม่คนตายแต่ก็มีคนเจ็บ คนถูกจับกุม ทรัพย์สินเสียหายเช่นกัน

16 items(1/2) 2 Next » Last »|