โดย Little Bear on 25 พ.ค. 57 15:34

ในอดีตทะเลไทยเคยคับคั่งไปด้วยฝูงปลามากมาย แต่ทุกวันนี้ปลาทะเลเหลือน้อยลงเนื่องจากการประมงแบบทำลายล้าง เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล จึงส่งเสริมให้ชาวประมงท้องถิ่นทำการประมงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจัดทำโครงการประมงพื้นบ้าน-เกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมให้เกิดสินค้าทะเลออร์แกนิก (Organic Fisheries Product) เพื่อให้ผู้บริโภคมีอาหารทะเลสด ปลอดภัยจากสารพิษ ในราคายุติธรรมทั้งกับผู้บริโภคและผู้ผลิต

ติดตามเรื่องราวดีๆ แบบนี้ได้ในกินอยู่คือ วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.05 – 16.30 น. ทางไทยพีบีเอส หรือรับชมทีวีออนไลน์ทาง www.thaipbs.or.th/live

ที่มา thaipbs.or.th

โดย Little Bear on 25 พ.ค. 57 10:32

ปลาโรนันมีรูปร่างคล้ายปลาฉลามแต่มีส่วนหัวแบนแหลมเหมือนปลากระเบน ซึ่งเป็นรอยต่อของวิวัฒนาการจากปลาฉลามมาถึงปลากระเบน โดยวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคจูราสสิกตอนต้น มีปากอยู่บริเวณด้านล่างของลำตัวเหมือนปลากระเบน หรือปลาฉนาก หากินสัตว์น้ำต่าง ๆ ตามพื้นดิน โดยปกติปลาตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้มาก ออกลูกเป็นตัว โดยไข่พัฒนาอยู่ในลำตัวแม่ เป็นปลาที่พบได้น้อยและมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์แล้วทุกชนิด (ตัวนี้ติดอวนมาโดยไม่ตั้งใจ)....

ที่มา ปกป้องแหล่งผลิตอาหารชายฝั่งทะเลจะนะ

โดย Little Bear on 24 พ.ค. 57 10:08

มาชิมของหรอย ๆ และร่วมอุดหนุนข้าวดอกราย ได้ในงานกองทุนปกป้องแหล่งผลิตอาหารชายฝั่งทะเลจะนะ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ณ ชายหาดบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา เวลา 09.00 น.- 18.30 น.

ข้าวดอกราย อาหารพื้นบ้านของคนสะกอม ป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของที่นี่เลยก็ว่าได้ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือเป็นอาหารที่สืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ จึงไม่แปลกที่ชาวสะกอมจะรู้สึกภาคภูมิใจทุกครั้งที่เรานำไปจัดแสดงในงานต่าง ๆ เพราะเป็นเอกลักษณ์ของเราและทุกครั้งที่เราไปขาย ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเพราะเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะและหากินได้ยากมาก

คนเฒ่าคนแก่บอกว่าสาเหตุที่ชื่อข้าวดอกรายก็เพราะส่วนผสมที่หาหลากหลายและหาได้ง่ายจากในครั วเช่น ข้าวที่เหลือหรือคนบ้านเราเรียกว่าข้าวเย็น, หัวหอม, พริกสด, ปลาสด, กะปิ, มะขามเปียก, ตะไคร้ สำหรับกะปิของสะกอมก็ได้ชื่อว่าเป็นกะปิที่อร่อยอยู่แล้ว และคนสะกอมส่วนใหญ่ก็ทำกะปิกินเอง

วิธีทำนำตะไคร้ พริก หัวหอมมาตำให้ละเอียดใส่ปลา และกะปิตำให้เข้ากันใส่น้ำมะขามเปียกหรือมะขามสดก็ได้ จากนั้นใส่ข้าวคลุกเคล้าให้เข้ากันสามารถทานได้เลย

สิ่งที่ทำให้ข้าวดอกรายอร่อยและมีเอกลักษณ์เฉพาะก็คือปลาที่สด และสะอาด นับได้ว่าเป็นส่วนผสมที่สำคัญที่ทำให้ข้าวดอกรายอร่อย เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาดตลอดไป เพื่อสืบทอดอาหารดีดีและของดีดีของเราไว้ให้ลูกหลานรุ่นต่อไป

ที่มา ปกป้องแหล่งผลิตอาหารชายฝั่งทะเลจะนะ

โดย Little Bear on 23 พ.ค. 57 23:13

พรุ่งนี้ เสาร์ที่ 24 พ.ค.57 งานรวบรวมมรดกชุมชน ของพี่น้องจะนะ เดินหน้าต่อไป ใครสนใจเชิญได้นะคะ ณ ที่ทำการผญบ.บ่อโชน ต.สะกอม จะนะค่ะ มีทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปะวัฒนธรรม และอีกมากมาย ที่ป๊ะ มะ อยากดูแล ช่วยกันเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานต่อไป...

โดย Little Bear on 23 พ.ค. 57 21:53

คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา  ลงพื้นที่จังหวัดสงขลาเพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกรณี ปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล  จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 11 -12  มกราคม 2553  ประกอบด้วยนายสุรชัย  เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการฯ  นายสุรจิต  ชิรเวทย์ รองโฆษกคณะกรรมาธิการฯและคณะ

10.00 น.คณะกรรมาธิการฯได้เดินทางมายังบ้านสวนกง หมู่ที่ 7  ตำบลนาทับ  เพื่อดูสภาพพื้นที่ของชายหาดที่ยังอยู่สภาพที่ยังสมบูรณ์ เพื่อเปรียบเทียบกับสภาพชายหาดที่ถูกกัดเซาะไปในพื้นที่อื่นๆในจังหวัดสงขลา และพื้นที่ดังกล่าวกำลังเป็นพื้นที่เป้าหมายในการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2  และเพื่อรับฟังปัญหาจากชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการกัดเซาะชายหาดจากกรณีการสร้างเขื่อนกันทรายและกันคลื่นของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีในพื้นที่ร่องน้ำปากคลองสะกอม

นายสุรชัย  เลี้ยงบุญเลิศชัย กล่าวว่า เนื่องจากได้รับการร้องเรียนประเด็นปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดสงขลา จึงได้นำเรื่องเข้าสู่กรรมาธิการวุฒิสภา และได้เชิญผู้ที่มีความรู้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อมาชี้แจงข้อมูล และในวันนี้ทางคณะลงมาเพื่อรับฟังปัญหาข้อเท็จจริงจากประชาชนในพื้นที่ ข้อมูลที่ได้จะจัดทำเป็นรายงานการศึกษาเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องและเป็นการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อไป

โดย Little Bear on 23 พ.ค. 57 21:51

ท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตลอดทั้งแนวตั้งแต่จังหวัดนราธิวาสถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี  คนรักและผูกพันกับชายหาดในจังหวัดสงขลา จึงร่วมกันจัดกิจกรรมคิดถึงเธอ...ชายหาดขึ้น เพื่อพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน ตำบลบ้านนา ร่วมกับ  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้(กป.อพช.ใต้) สมาคมดับบ้านดับเมือง  สมาคมรักษ์ทะเลไทย  มหาวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ อำเภอจะนะ  เครือข่ายนักข่าวพลเมืองเฝ้าระวังชายหาด และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณแห่งประเทศไทย(ทีวีไทย)  จัดงานคิดถึงเธอ...ชายหาดขึ้นบริเวณริมทะเลบ้านบ่อโชน ต.สะกอม อ.จะนะ  จ.สงขลา เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคมที่ผ่านมา

กิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อมุ่งสร้างกระบวนการศึกษาเรียนรู้สภาพปัญหาของชายหาด ความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดสงขลา เกิดการแลกเปลี่ยนเรื่องราวของชายหาดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันผู้เข้าร่วมเห็นคุณค่าและความสำคัญของชายหาด และเกิดจิตสำนึกร่วมกันในการดูแลรักษาทรัพยากรชายหาด

โดย Little Bear on 23 พ.ค. 57 21:49

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมามีโอกาสเดินทางไปแถบถนนเก้าเส้ง ทอดยาวไปถึงชายหาดชลาทัศน์  บริเวณแหลมสมิหลา จังหวัดสงขลา แนวต้นสนที่บางตาลง เห็นกระสอบทราย กองหิน ล้อยางรถยนต์วางกองเรียงรายบนฟุตบาธถนน เห็นป้ายประกาศเตือนขนาดเขื่องว่า “ระวังต้นสนล้มทับ” เดินลงไปสำรวจแนวชายหาดพบว่ามีการนำล้อยางรถยนต์เก่าที่ไม่ใช้งานมารียงรายบริเวณแนวชายหาดและซ้อนทับด้วยกระสอบทราย  ภาพที่เห็นไม่แน่ใจว่าคือประติมากรรมหรือนวตกรรม ที่เกิดจากความรู้ ภูมิปัญญาหรือเป็นการทดลองเทคโนโลยีใหม่กันแน่  คำถามที่เกิดขึ้นในหัวใจคือเรากำลังปฐมพยาบาลบาดแผลของชายหาด เพื่อปกป้องรักษาชายหาดไว้ให้ลูกหลานในอนาคต หรือเรากำลังวางยาเพื่อฆาตกรรมชายหาดให้ค่อยตายไป  แล้วสุดท้ายก็ไม่รู้ว่าใครเป็นฆาตกร  เข้าใจความรู้สึกของการแก้ไขปัญหาโดยการเอาล้อยางรถยนต์มาวางเรียงรายบนชายหาดนั้นเฉพาะหน้า โดยมีเป้าหมายเพื่อชะลอความแรงของคลื่น ไม่ให้กัดเซาะชายหาดพังหรือป้องกันไม่ให้ต้นสนล้ม  แต่ในความเป็นจริงเพียงแค่ล้อยางรถยนต์และกระสอบทรายไม่สามารถแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาดชลาทัศน์ได้เลยได้  เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

โจทย์ใหญ่ที่ควรคิดในเวลานี้คือการพังทลายของชายหาดอะไรคือต้นตอของปัญหากันแน่?  เพราะในเวลานี้คลื่นลมแรงและภาวะโลกร้อนกำลังตกเป็นจำเลย ของการพังทลายของชายหาด

คำถามคือชายหาดในวันนี้บาดเจ็บแสนสาหัสเกินกว่าเยียวยาแล้วจริงหรือ? หรือเรากำลังใช้วิธีการเยียวยาปฐมพยาบาลที่ผิดทิศผิดทางกันแน่  มีใครบ้างคนเคยพูดว่าชายหาดสงขลาตายแล้ว มีคนบางกลุ่มต้องการทำให้ตาย เพื่อให้ชายหาดหมดความสวยงามและหมดคุณค่าที่จะปกป้องรักษา เพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำลายชายหาดด้วยการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่สองในอนาคต 

โดย Little Bear on 23 พ.ค. 57 21:46

ทันทีที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงพื้นที่จังหวัดสงขลาเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยให้นักธุรกิจและหอการค้า 5  จังหวัดชายแดนใต้เข้าพบ เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาที่ทางหอการค้าต้องการ ซึ่งในวันนั้นนายกอภิสิทธิ์พูดชัดว่าหากก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล        และท่าเทียบเรือน้ำลึกที่ตำบลนาทับ จ.สงขลา หากมีเพียงท่าเทียบเรืออย่างเดียวไม่คุ้มการลงทุน ต้องมีถนน โครงข่ายท่อน้ำมัน รางรถไฟ และอุตสาหกรรมโดยโยนเผือกร้อนใส่คนสงขลา ว่า “คนสงขลาต้องช่วยผมกำหนด ตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่เอาการพัฒนาอุตสาหกรรม”

ถัดมาเพียงสี่วัน (4 พฤศจิกายน 2552)  ห้องประชุมเกษม ลิ่มวงศ์ ศูนย์การประชุมคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ทางศูนย์การเรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จ.สงขลา ได้จัดการจัดโครงการสัมมนา ร่วมกำหนดอนาคตคนสงขลา “บนฐานทรัพยากรที่ยั่งยืน” ทำให้เห็นถึงมุมมองกลุ่มคนที่หลากหลายที่ไม่เห็นด้วยกับทิศทางนโยบายรัฐบาล  และสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ต้องการพัฒนาพื้นที่จ.สงขลาไปสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมแบบมาบตาพุด

โดย Little Bear on 23 พ.ค. 57 21:43

ช่วงวันหยุดเข้าพรรษาที่ผ่านมามีน้องๆเยาวชนในนามของกลุ่ม “โหมเรารักษ์จะนะ”ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาได้ร่วมกันจัดค่ายเยาวชนโหมเรารักษ์จะนะครั้งที่ 2 “ตามหาชายหาด...หายไป”ขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 กรกฎาคม 2552 ณ บ่อโชนรีสอร์ท ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หลังจากที่มีการจัดค่ายเยาวชนครั้งแรกไปเมื่อปีกลายที่ผ่านมา เวลานั้นเป็นค่าย“ตามรอยเรื่องเล่าเมืองจะนะ”

เช้าวันที่ 7 กรกฎาคมน้องๆสามสิบกว่าชีวิตจากหลายหมู่บ้านและหลากหลายโรงเรียนได้เดินทางมารวมตัวกัน ณ ศูนย์การเรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ  น้องเล็กสุดก็ประถมห้าประถมหก พี่สุดกำลังศึกษาปริญญาตรีเพื่อเตรียมออกเดินทางไปยังริมทะเลตำบลสะกอม

ความคาดหวังของเยาวชนในการจัดค่ายครั้งนี้ เพื่อเรียนรู้ประการณ์ใหม่ๆ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับชายหาดและท้องทะเล  เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านที่สัมพันธ์กับท้องทะเล ค้นหาที่ทำให้ชายหาดหายไป  ที่สำคัญเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ทะเลบ้านเรา  ส่วนหนึ่งค่ายนี้ถือเป็นค่ายพัฒนาการของน้องๆโหมเรารักษ์จะนะจากค่ายที่หนึ่งในฐานะผู้เข้าร่วมค่าย  แต่ในครั้งนี้ขยับบทบาทเป็นผู้ออกแบบและเป็นพี่เลี้ยงค่าย  ผู้ปกครองที่ทำหน้าพี่เลี้ยงค่ายแรก สำหรับค่ายนี้เป็นฝ่ายสนับสนุน อำนวยความสะดวกและเฝ้าดูการเติบโตของเด็กๆ