ฤดูกาล...กุ้งกะปิ

by Little Bear @21 พ.ค. 57 20:33 ( IP : 49...135 ) | Tags : บทความ

 คำอธิบายภาพ : krill1

ใครบ้างจะรู้ว่า กะปิ ที่เราหาซื้อกันได้ทั่วไปในท้องตลาดนั้น

กว่าจะแปรรูปออกมาเป็นกะปิได้ ไม่ง่ายเลย...

หลังคลื่นซัดกระหน่ำอย่างรุนแรงในท้องทะเล

ก็มาถึงช่วงคลื่นลมเงียบสงบ

ทะเลเริ่มราบเรียบ ฤดู “กุ้งเคย” มาเยือน...

ระหว่างเดือน พฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคมของทุกปี

ชาวประมงในพื้นที่ตำบลสะกอม และตำบลตลิ่งชัน

(อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา)รอคอยความสนุกสนาน

ที่มาพร้อมกับอาหาร และรายได้จากการจับกุ้งเคย

จนบางครั้งทำให้ลืมความเหน็ดเหนื่อยไปได้

 คำอธิบายภาพ : krill6

ผู้คนเกือบทั้งหมดที่อาศัยอยู่ชายฝั่งทะเล

บางคนแม้จะไม่ได้ทำประมงเป็นอาชีพหลัก

ก็เตรียมพร้อมที่จะมาจับกุ้งเคยด้วยความชำนาญ

ที่ฝึกฝนกันมาแต่เล็กแต่น้อย


ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับกุ้งเคยได้โดยไม่ต้องมีเครื่องยนต์กลไก เทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างประมงพาณิชย์

เพียงใช้ ถุงดักเคย ถุงรุน


 คำอธิบายภาพ : krill3


หรืออาจมี “ตีนต่อ” ที่ทำจากลำไม้ไผ่สวมที่เท้า

เดินลงไปในทะเลที่ลึกประมาณ เมตรกว่าๆ

มองไกลๆ เหมือนคนเดินบนผิวน้ำ


เริ่มจับ “กุ้งเคย” กันตั้งแต่เช้ามืด

เมื่อได้กุ้งเคยจำนวนมากพอก็เริ่มกระบวนการทำกะปิ

 คำอธิบายภาพ : krill2

ซึ่งมีแตกต่างหลายหลายวิธี แต่หากเป็นกรรมวิธีพื้นบ้านดั้งเดิมแล้วล่ะก็

จะได้กะปิ หรือ “เคย” ที่มีรสชาติอร่อย กลิ่นหอม สีสวยตามธรรมชาติ

นั่นคือ “การตากตัวสด”

 คำอธิบายภาพ : krill7

เริ่มด้วยการนำ “กุ้งเคย” มาคลุกเกลือให้ทั่ว แล้วตากแดดสายๆ จนถึงบ่าย

เก็บขณะที่ยังมีแดดร้อนเปรี้ยงๆ อยู่ เพราะถ้าตากทิ้งไว้จนแดดร่ม

อาจมีแขกไม่ได้รับเชิญมาเยือน...แมลงวัน...นั่นเองค่ะ

ต้องระวังกันอย่างมาก


จากนั้นเอา "กุ้งเคย" มาตำโดยใช้ครกไม้อันใหญ่  หรือใช้เครื่องบดก็ได้

หมักเก็บไว้ในโอ่งให้มิดชิด 1 คืน

เช้ารุ่งขึ้นจึงนำมาบดและตาก ซ้ำอีก ทำอย่างนี้ ประมาณ 2-3 ครั้ง

หลังจากนั้นหมักทิ้งไว้นานประมาณ 6 เดือน ถึง หนึ่งปี

จะได้กะปิคุณภาพดีหอมอร่อย สีสวยโดยไม่ต้องใส่สีผสมลงไป

และมาถึงมือผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ในที่สุด


ชาวประมงพื้นบ้านสองตำบลนี้เกือบทั้งหมดเป็นพี่น้องมุสลิมค่ะ

เค้าบอกว่าตามหลักการศาสนาอิสลามนั้น

“อัลลอฮฺประทานท้องทะเลอันอุดมสมบูรณ์มาให้มนุษย์ทุกคน

เราสามารถทำมาหากินได้ พร้อมๆ กับมีหน้าที่ดูแลรักษาไว้ให้ลูกหลานมีกินมีใช้กันต่อไป

แต่ไม่มีสิทธิ์ครอบครองหรือทำลาย”

ที่มา http://www.oknation.net