ฤดูกาล “แกงปูลูกท้อน”

by Little Bear @21 พ.ค. 57 23:20 ( IP : 49...84 ) | Tags : บทความ

เรื่องเล่าจากลานหอยเสียบ

ตอน ฤดูกาล “แกงปูลูกท้อน”

สายวันหนึ่ง วันที่ท้องฟ้าแจ่มใสพวกเรานั่งล้อมวงที่ชายหาดบริเวณลานหอยเสียบ[๑] พูดคุยถึงเรื่องราวหลักคำสอนของศาสนาในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติด้วยท่าทีสบายๆ  แทนการถกเถียงอย่างคร่ำเคร่งเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนในชุมชนที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างที่ผ่านมา

 คำอธิบายภาพ : Book1

เนื่องจากเป็นเดือนรอมฎอน[๒] สมาชิกในวงจึงตกลงกันปรับเปลี่ยนเนื้อหาการประชุมให้สอดคล้องกับการถือศีลอดในเดือนนี้ไม่ให้เครียดจนเกินไป และที่สำคัญหลีกเลี่ยงการพูดจาพาดพิงถึงผู้อื่น

หลังประชุมเสร็จแมะนะ[๓]ก็หยิบ “ชั้น”[๔] ที่วางแอบไว้ข้างเสาของศาลาออกมาเปิดฝาทำให้กลิ่นหอมของ “แกงปูกะลูกท้อน[๕]” โชยออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ  เรียกเสียงฮือฮา! จากสมาชิกในวง พร้อมกับเสียงแซวว่า “เฮ้ย! ช่วงนี้เดือนบวช นี่เพิ่งจะเที่ยง ยังกินข้าวไม่ได้”

 คำอธิบายภาพ : Curry2

แมะนะสวนกลับไปพร้อมหัวเราะเสียงดังว่า “รู้แล้ว...ไม่กินตอนนี้หรอก    เป็นของฝากให้กลับไปแก้บวช[๖]เย็นนี้  ก็วันก่อนได้ยินใครบางคนบ่นมากับสายลมว่าอยากกินแกงปูกะลูกท้อน”

ใครบางคน...ทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิม รู้ตัวกันดีอดยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ออกมาไม่ได้

แมะนะเจ้าของสำนวน “ทุกอย่างเราเก็บจากต้น” ตั้งใจอธิบายให้คนไทยพุทธต่างถิ่นด้วยความเอ็นดูว่า “แกงชั้นนี้” เป็นอาหารพิเศษที่มีให้ทานกันเพียงปีละครั้งเท่านั้น เพราะจะแกงได้เฉพาะช่วงที่กระท้อนออกลูกพร้อมๆ กับที่ชาวประมงออกไปวางอวนได้ปูมาจากทะเล ก็คือ ช่วงเดือนกรกฎาคม –สิงหาคม นั่นเอง ว่าแล้วก็พูดประโยคประจำตัวที่ทุกคนได้ยินกันจนติดหูว่า “เครื่องแกงเอย...  มะพร้าวเอย...เราเก็บจาก...ต้น  กระท้อนนี่ก็เก็บจากต้นหนึ่งปีมีหนึ่งครั้ง  ส่วนปูมีเกือบทั้งปีบังหมัดเก็บมาจากทะเล”

 คำอธิบายภาพ : KraTon1  คำอธิบายภาพ : Crab2

“แกงชั้นนี้” มีความหมาย...จำได้ว่าปีที่แล้วสุใบเด๊าะ กับแมะนะ สองผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารเคยอธิบาย ให้อาจารย์สมบูรณ์  ซึ่งเดินทางมาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เพื่อศึกษาเรื่องราวของอาหารที่สอดคล้องกับฤดูกาลว่า “แกงปูลูกท้อน เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน หากเราช่วยกันดูแลรักษาข้าวปลาอาหารที่พระเจ้าสร้างมาให้ ตราบนั้นทะเลยังมีปูให้เราจับ กระท้อนยังออกลูกให้เรากิน ”

ขณะนั่งมองแมะนะตักแกงแบ่งใส่ถุงให้เพื่อนร่วมวง หูก็แว่วได้ยินเสียงวิทยากรในรายการโทรทัศน์ พูดคุยกันเนื่องในงานรำลึก “สืบ นะคะเสถียร” ว่า “สิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ล้วนปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ มีเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่ปรับธรรมชาติให้เข้ากับตัวเอง นั่นก็คือมนุษย์” ... บางทีการกิน “แกงปูกะลูกท้อน” ของผู้เขียนอาจเป็นโอกาสหนึ่ง  ของการปรับตัวเองให้เข้ากับธรรมชาติบ้างก็ได้  กินอาหารตามฤดูกาล อาหารที่เป็นสัญลักษณ์ของชุมชน ไม่ต้องขนส่งมาไกล ไม่ต้องกินเหมือนกันทุกคน แต่ละถิ่นก็แตกต่างหลากหลายกันไปตามฤดูกาลของโลกใบนี้

 คำอธิบายภาพ : Crab5  คำอธิบายภาพ : Kraton3  คำอธิบายภาพ : Curry1

[๑] ลานหอยเสียบ ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

[๒] เดือนรอมฎอน หมายถึง เดือนที่บทบัญญัติแห่งอิสลามกำหนดให้มุสลิมถือศีลอดด้วยการเว้นจากการกินการดื่มและอดกลั้นจากอารมณ์ใฝ่ต่ำทั้งหลายตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตก

[๓] แมะ เป็นคำที่ใช้เรียกแม่ หรือใช้นำหน้าชื่อผู้ที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับแม่ หรือป้า หรือใกล้เคียง ในภาษาถิ่นของมุสลิมภาคใต้

[๔] ชั้น หมายถึง ปิ่นโต ในภาษาถิ่นภาคใต้

[๕] ลูกท้อน หมายถึง กระท้อน ในภาษาถิ่นภาคใต้

[๖] แก้บวช หมายถึง การละศีลอดของแต่ละวันหรือการกินอาหารหลังจากดวงอาทิตย์ตก

 คำอธิบายภาพ : Lamad1

ที่มา www.oknation.net